กำลังโหลด

    กระทู้ที่ 0444
บทความ#7 : ไปในทางที่ดี (1)
ตั้งกระทู้ใหม่

บทความ#7 : ไปในทางที่ดี (2)ตอบ: 1, อ่าน: 1524

3. ฝึกแบบไหนดี

         ● ในขณะที่เด็กชาย A กำลังท่องสูตรคูณแม่ 13, 14, 15 ฯลฯ ให้ขึ้นใจอยู่เป็นเวลา 2 วัน เด็กชาย B ก็เอาเวลานี้ไปศึกษาวิธีตั้งคูณ จนกระทั่งสามารถทดได้คล่องแคล่วภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นว่าอาศัยเวลาน้อยกว่า แต่กลับทำโจทย์ได้ครอบจักรวาลกว่า และยังไม่เปลืองสมองอีกต่างหากครับ

         เด็กสองคนนี้ทำให้เราเห็นว่า การทุ่มเวลาฝึกมากหรือน้อยกว่ากัน อาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่ "วิธีที่เราทำความเข้าใจมัน" ต่างหากครับที่สำคัญ

         ดังนั้นถ้าน้องๆ กำลังรู้สึกว่าตัวเองเรียนวิชาเลขได้ไม่ดี แล้วอยากจะลุกขึ้นมาแก้ไขอะไรสักอย่าง ผมว่าหนทางปรับปรุงตัวไม่ใช่การเพิ่มแรงถึก อัดทุกอย่าง "เข้าหัว" แบบจัดหนักขึ้นไปอีกนะครับ แต่ต้องไปปรับปรุงวิธีการ "เข้าใจ" ต่างหากครับ

         ถ้าวิธีการถูก จะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหรือใช้แรงอัดมากเลย ก็คงเหมือนการปรับหน้าตาของ "ช่องประตู" ให้สอดคล้องกับรูปร่างวัตถุที่จะผ่านเข้าไป ถ้าเปิดช่องอย่างเหมาะสม มันก็จะเข้าได้พรวดๆ ไม่ติดขัดเลยครับ (แต่ถ้ารูปร่างไม่สอดคล้องกัน ผลักแทบตายก็ยังเข้าได้ไม่หมด)

         ● น้องหลายคนลงมือฝึกๆๆ จนกระทั่งนึกว่าตัวเองเข้าใจแล้ว แต่เห็นข้อสอบถึงกับเป๋ ไปไม่เป็น แบบนี้ก็เรียกว่า "ยังเข้าใจไม่จริง" ครับ โดยมากจะเกิดจากการฝึกชนิดลอกเลียนวิธีจากข้อเก่า เรียงไปเรื่อยๆ แล้วก็บอกว่าทำเป็นแล้ว เข้าใจแล้ว เพราะทำแล้วคำตอบก็ถูกนี่!

         อันที่จริงอย่างนี้ถือว่าเพิ่งเริ่ม "เข้า" ไปใน "ใจ" ได้แค่ก้าวแรกเองนะครับ

         ทางที่ดี ในทุกขั้นตอนที่เขียน ที่ทำ จะต้องมีสติ รู้ตัวว่าทำทำไม มีวิธีอื่นแทนกันได้หรือไม่ และพยายามไม่เชื่อวิธีทำที่คนอื่นบอกถ้ายังไม่รู้ว่าทำไมต้องทำแบบนั้น นี่น่าจะเป็นการ "เข้าใจ" ที่ถูกวิธีครับ ^ ^

         ● เอ๊ะเวลาทำแบบฝึกหัด มีใครเคยตกใจกับเฉลยในหนังสือไหมครับ "เฮ้ย! แล้วตูจะไปคิดออกได้ยังไงเนี่ยวิธีนี้!" ขอบอกว่าท่านตกหลุมพรางแล้วครับ เพราะมีข้อสอบจำนวนมากที่ผมคิดวิธีตรงๆ ทื่อๆ จนจบก่อน แล้วจึงเห็นทางที่ "ดูหล่อขึ้น" และแอบแก้ใหม่ซะเลย (หรือบางทีก็เขียนไว้ทั้งสองแบบ)

         ถ้าใครคิดวิธีตรงๆ ได้ ก็ถือว่าไม่ต่างจากผมหรอกครับ ไม่ต้องกังวลไป

         ช่วงเตรียมตัวสอบเราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากวิธีหล่อๆ เหล่านั้น แต่ในเวลาสอบจริงนึกวิธีไหนได้ก็ลองทำวิธีนั้นก่อนเลยครับ (ถ้ามันไม่ยาวจนเกินไป) ถือว่าดีแล้วล่ะคร้าบ

         ● นอกจากแบบฝึกหัดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ "ข้อสอบเก่า"

         ทุกคนคงเคยคุยกับเพื่อนหลังออกจากห้องสอบ แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาเฉียบพลัน ชนิดที่ก่อนสอบไม่เคยเข้าใจได้แบบนี้เลย! แต่ทว่าวิชานั้นก็กลับไม่ต้องสอบอีกเสียแล้ว น่าเสียดายไหมล่ะครับ มารู้เอาตอนสอบเสร็จเนี่ย (ยิ่งถ้าเป็นการสอบเอ็นท์ จะยิ่งน่าเสียดายสุดๆ เลย จะค้อนเพื่อนว่าทำไมเพิ่งมาบอกก็คงไม่ได้)

         งั้นเรามาลองแบบนี้กันดีไหมครับ จำลองการสอบให้ผ่านเราไปสักครั้งสองครั้ง เพื่อซึมซับเอา "ความเข้าใจหลังสอบ" ไว้ใช้กับการสอบจริงๆ ที่จะตามมา.. ซึ่งนี่ก็คือประโยชน์ของการนั่งทำข้อสอบย้อนหลังแบบจริงจังนั่นเอง!


4. เตรียมตัวแบบไหนดี

         ● ในการเตรียมตัวสอบหรือทำงานส่งในเวลาที่จำกัด ทุกคนมีเวลาตั้งต้นเท่ากัน แต่หลายคนบังคับตัวเองไม่ได้ แล้วก็ผัดวันออกไปก่อน วันนี้ขอสบายก่อน โดยลืมนึกไปว่าคนที่จะต้องมาเหนื่อยทีหลังก็คือตัวเราเองนั่นแหละครับ ไม่ใช่คนอื่น

         ดังนั้นลองถามตัวเองดูครับ ว่าอยากให้ตัวเราในวันท้ายๆ หันกลับมาชื่นชมหรือด่าตัวเราในวันนี้กันแน่

         ● โดยเฉพาะช่วงก่อนสอบนี่ หลายคนเห็นเพื่อนๆ ยังไม่เริ่มอ่าน ยังดูชิวๆ ก็เลยนิ่งนอนใจ.. แต่อันที่จริง
(1) ตอนสอบไม่ได้ตัวติดกันเป็นแฝดสยาม ใครจะอยู่ใครจะไป วัดที่ตัวเราล้วนๆ
(2) เราไม่รู้หรอกว่าใครแอบไปเรียนเพิ่ม หรือซุ่มอ่านที่บ้านบ้าง (ไม่งั้นคงไม่เรียกซุ่ม)
(3) แต่ละคนมีความรู้ติดมาไม่เท่ากัน เวลาที่จำเป็นต้องใช้จึงไม่เท่ากัน

         ถ้าอยากมองเพื่อนเป็นตัวเปรียบเทียบ ต้องมองแบบนี้ครับ.. การเตรียมตัวเพื่อให้สอบผ่าน อย่างน้อยที่สุดเราต้องรู้เท่ากับเพื่อนคนที่ "แย่! แต่ก็ยังผ่าน!" ลองมองหาดูซิครับว่าเป็นใคร และเราเทียบกับเขาได้หรือยัง

         อย่าทำตัวตามคนที่มีแววจะตก แล้วบอกว่าอุ่นใจที่ยังมีเพื่อนนะ! (เจอบ่อยครับ อิๆๆ)

         ● อีกปัญหาหนึ่งของคนส่วนใหญ่คือ ขาดแรงจูงใจที่จะเริ่มลงมืออ่านหรือฝึก แล้วก็เลยเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน จนกระทั่งเหลือเวลากระชั้นสุดๆ ถึงค่อยเริ่มได้สักที ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ผมเองก็เป็นมาตลอด แม้เรียนจบมาทำงานเขียนหนังสือแบบตอนนี้ ก็ยังเป็นไม่หายเลย

         เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องเริ่มทำหนังสือเล่มใหม่ แต่ปรากฏว่าผมเองก็ไม่ยอมเริ่มลงมือเสียที เวลาก็ผ่านไปวันแล้ววันเล่า.. ผมจึงลองปรับบรรยากาศการทำงาน, หาวิธีโน้มน้าวจิตใจ, ตั้งเป้าหมาย กติกา รางวัล, หรือแม้แต่ขู่ตัวเองสารพัด (เรียกว่าครบทั้ง "แรงผลักดัน" และ "แรงกดดัน") แต่งานก็ยังไม่เดินเสียที

         แล้วผมก็พบว่าเหลืออยู่ทางเดียวคือ "ลองนั่งลงแล้วเริ่มทำ" ซึ่งมันกลับสำเร็จครับ!

         ก็คงเหมือนวิธีเดียวที่คนเราจะเลิกบุหรี่ที่เขาว่าเลิกยากๆ ได้ นั่นก็คือ "แค่ไม่สูบอีกต่อไป"

         อาจฟังดูตื้นๆ ง่ายๆ แบบใครก็พูดได้ แต่ว่ามันก็ง่ายอย่างนั้นจริงๆ นะครับ ไม่เชื่อพออ่านบทความนี้เสร็จลองหยิบหนังสือมาอ่านสักบทสิ :P (บางทีพอเราไม่คิดอะไรมาก ก็จะเริ่มทำได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงจูงใจใดๆ เลยครับ)

         ● ครั้นพองานเริ่มเดินแล้ว ก็ยังมีอีกคราวหนึ่งที่จู่ๆ ผมก็รู้สึกว่างานเดินช้าไปหน่อย เพราะมัวตอบเฟซบุ๊คและเล่นเน็ต ฉะนั้นผมจึงตัดสินใจทันทีว่า.. จะเล่นต่อไปให้เต็มที่เหมือนเดิมครับ! ฮ่าๆๆ

         เพราะแค่การเลิกเล่นอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ผมว่าขยันทำงานเพิ่มขึ้นดีกว่าครับ ถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด.. ซึ่งน้องๆ ก็เช่นกันครับ เรียนให้เต็มที่ เล่นให้เต็มที่ จัดเวลาให้ดี ชีวิตก็แฮปปี้เท่านี้เอง ^ ^

         ● พูดเรื่องเล่นแล้วก็นึกถึงคำถามที่ว่า ในช่วงเตรียมสอบ "มีวิธีแก้เครียดอย่างไร" ซึ่งนอกจากการเล่นสนุกให้เต็มที่แล้ว ผมยังมีหลักคิดอีกอย่างหนึ่งด้วยครับ

         คนเราจะเครียดก็ต่อเมื่อพบเจอปัญหา แต่ผมเคยได้ยินมาว่า "ไม่มีเรื่องอะไรในโลกที่สมควรเครียด!" เพราะปัญหาที่มนุษย์จะพบเจอมีอยู่เพียง 2 ประเภท คือปัญหาที่เราจัดการมันได้ กับปัญหาที่เราจัดการไม่ได้

         หลักคิดนี้เขาบอกว่า "เมื่อเราเจอปัญหาที่จัดการได้ ก็ให้รีบลงมือแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปซะเลย อย่ามัวเครียด.. แต่ถ้าเราเจอปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ เมื่อยอมรับแล้วว่ามันแก้ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเครียดกับมันอยู่ดีนี่เนอะ" ^ ^ ฟังแล้วสบายใจขึ้นไหมครับ

         ● เรื่องสุดท้าย ในการเตรียมสอบบางทีเราก็กังวลไปกับสิ่งที่ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า เช่น

น้อง : การจะเอ็นท์ให้ติดเนี่ย เราต้องสู้กับคนอื่นกี่คนอ่ะ
พี่ : ก็ดูอย่างงี้สิ สมมติคณะนี้รับ 200 คน แต่มีคนเลือก 2 หมื่นคน
น้อง : โห มัน 1 ต่อ 100 แปลว่าเราต้องชนะคนอื่นตั้ง 99 คนแน่ะ!
พี่ : ไม่ใช่หรอก เราต้องทำคะแนนมากกว่า 19,800 คนต่างหาก ถึงจะติด
น้อง : โอ้ววว!!! ฟังดูยิ่งน่าท้อแท้ไปใหญ่ - -"
พี่ : ฮ่าๆๆ แต่จากความรู้ที่มี เราคงไม่ใช่อันดับบ๊วยสุดแน่ๆ อาจจะอยู่ที่ 1,500
น้อง : จะเขยิบขึ้นไปอยู่ที่ 200 ก็ต้องกระโดดไป 1,300 อันดับเหรอ
พี่ : อื้ม รู้สึกดีขึ้นนิดนึงมั้ย ^ ^

         ในชีวิตจริงไม่มีใครรู้หรอกครับว่าตอนนี้เราอยู่ในอันดับเท่าไร คะแนนออกมาแล้วค่อยว่ากัน ดังนั้นช่วงเตรียมตัวก็จัดเต็มในแบบฉบับของตัวเองก็พอครับ ไม่ต้องคิดว่าจะแข่งกับใครทั้งสิ้น.. ขอแค่ชนะใจตัวเองให้ได้ แล้วเดี๋ยวจะชนะคนอื่นที่เขาแพ้ใจตัวเอง!

         ● ผมเคยเขียนจำลองเอาไว้ด้วยว่า ชีวิตจริงของเด็กเอ็นท์ (ที่แพ้ใจตัวเอง) เป็นอย่างไร

         กรกฎา : เดี๋ยวสอบมิดเทอมเสร็จค่อยลุย ยังทันอยู่!
เผลอแป๊บเดียวถึงกันยา : เอาน่า ปิดเทอมจะจัดหนัก 7 วันรวดเลย
สอบตุลาผ่านไปอย่างกระท่อนกระแท่น : เฮ้ยไม่เป็นไร! เทอมหน้าตูเอาจริงละนะ!
ไปๆ มาๆ ก็ถึงช่วงสอบมีนา : เออ จะว่าไปเราก็เฉยๆ กับคณะนี้นะ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ติดที่ไหนก็ดีใจทั้งนั้นว่ะ ความรู้อย่างเรา

         ประเด็นไม่ใช่เรื่องความรู้หรอก! ความขยันต่างหากเฟ่ย! ไม่ต้องมาลดสเปคหลอกตัวเองเลย ฮ่าๆๆ ..หวังว่าน้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่จะไม่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้นะครับ


         จากที่ได้อ่านมาจนจบจะเห็นว่าผมพูดเป็นหลักการกว้างๆ นะครับ เพราะคงเขียนเจาะจงถึงขนาด "ต้องแบ่งเวลาอย่างไร วันละกี่ชั่วโมง อ่านอะไรบ้าง" อย่างนั้นไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนก็มีรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับตัวเองที่ไม่เหมือนกันครับ ..แต่ถ้าอยากรู้ว่าตอนผมสอบเอ็นท์ (ซึ่งก็ไม่นานมานี้เองล่ะ อิๆๆ) ผมเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปคร้าบ ^ ^

===============================================

แถม : เอ็นเคล็ด! (แบบไร้หลักวิชาการ)

4. ข้อสอบชนิด "ข้อความ ก. กับ ข. ถูกหรือผิด" ในสมัยก่อนมักจะเป็นถูกและผิดอย่างละข้อ (ดังนั้นถ้ามั่นใจเพียงข้อเดียว อีกข้อก็ให้เดาตรงข้ามไว้ก่อน) แต่ในปัจจุบัน ข้อที่เฉลยว่าถูกคู่ กับผิดคู่ เริ่มมีเยอะขึ้นแล้ว ดังนั้นถ้าเจอข้อที่คิดไม่ออกก็ควรใช้เนื้อหาวิชาการเข้าช่วยในการเดาอยู่ดีครับ

5. เท่าที่ผมเคยรวบรวมสถิติไว้ ข้อสอบในส่วนปรนัยจะออก ก. ข. ค. ง. อย่างละเท่าๆ กันครับ ดังนั้นเมื่อเหลือข้อที่ไม่รู้จะคิดอย่างไรแล้วจริงๆ ลองดูว่าตัวเลือกไหนกาไปแล้วน้อยที่สุด ก็ตอบตัวเลือกนั้นให้หมดทุกข้อเลย น่าจะได้ผลดีครับ (แต่วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าข้อที่กาไปแล้วถูกแน่ๆ เท่านั้น! ไม่งั้นจะยิ่งมั่วไปใหญ่)
นวย 02/11/54 00:16 
คำแนะนำดีๆไม่มีกั๊ก นึกว่าให้หมดแล้วในบทความ#6 เสียอีก นักเรียนทั้งหลายสมควรอ่านแล้วนำไปปฏิบัติตาม เพื่อความสำเร็จ มีคุณค่ามากทีเดียว
ขอบคุณครับ
boonchuay 03/11/54 09:04  [ 1 ] 
วิธีพิมพ์สมการดูได้ที่กระทู้ 0072 ครับ      
แปะรูป/ไฟล์
ถ้าไม่มีรหัสส่วนตัว กรุณาใส่เลขหน้า "ความน่าจะเป็น" ใน Math E-Book .. หรือตั้งรหัสได้ ที่นี่

ทดลองพิมพ์สมการ